สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 177  ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วรรคสอง ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2562

การที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จสองครั้งในคดีเดียวกัน คือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันประโยคเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้ง โดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดต่างกรรมไม่

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2562)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761 - 8763/2561

จทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 83, 173, 174 โดยมีรายละเอียดข้อความที่จำเลยเบิกความ กับความจริงเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีเป็นข้อความที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้ แต่จำเลยเบิกความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ เป็นการแจ้งชัดแล้วว่า คดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ประเด็นสำคัญของคดีว่าอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถือว่าโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร